
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับทีมนิสิต HPCNC และ อ.ดร.กัญจนสิทธ ทองเล็ก อาจารย์ที่ปรึกษา ที่คว้ารางวัล First Prize จากการแข่งขัน ASC 2025 Student Supercomputer Challenge ซึ่งจัดขึ้นโดย Asia Supercomputer Community ระหว่างวันที่ 10-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ณ มหาวิทยาลัยชิงไห่ เมืองซีหนิง มณฑลชิงไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมคือ อ.ดร. กัญจนสิทธ ทองเล็ก ยังได้รับรางวัล Most Valuable Advisor



สมาชิกในทีมประกอบด้วย (เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา)
นาย ภูวิชญ์พงษ์ ไพศาลลักษมีกร (นิสิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 1)
นาย สิรภัทร ปันมูล (นิสิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 2)
นาย นภัสกร แซ่เนี้ยว (นิสิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 2)
นาย จิตตบุญ บรรเริงศรี (นิสิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 4)
นาย ศุภนัฏ วิสิฏกตัญญูชัย (นิสิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 4)
โดยมี นาย นภัสกร แซ่เนี้ยว เป็นหัวหน้าทีม
ทีม HPCNC เป็นหนึ่งใน 25 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกจากทีมผู้สมัครกว่า 300 ทีมทั่วโลก และสามารถคว้ารางวัล First Prize จากการแข่งขันอันเข้มข้น ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่:
1. การประกอบและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง
ทีมได้ออกแบบและติดตั้งคลัสเตอร์ที่ประกอบด้วย 3 โหนด ได้แก่ 1 master และ 2 workers ซึ่ง 1 ในนั้นติดตั้ง GPU จำนวน 2 ตัว เพื่อใช้ในการเร่งการคำนวณด้านคณิตศาสตร์และการประมวลผลขั้นสูง
2. การทดสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันบน HPC Cluster นิสิตได้ทำการวิเคราะห์ ปรับแต่ง และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ 6 แอปพลิเคชันทางวิทยาศาสตร์ที่ท้าทาย ได้แก่:
1) HPL / HPCG: แอปพลิเคชันมาตรฐานที่ใช้ทดสอบสมรรถนะของคลัสเตอร์โดยการแก้ระบบสมการเชิงเส้นขนาดใหญ่แบบ 64-bit floating point เพื่อประเมินประสิทธิภาพการประมวลผลแบบตัวเลขจุดลอยตัวบนสถาปัตยกรรมระดับศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์
2) FAMIL: แอปพลิเคชันจำลองสภาพอากาศระดับโลกที่ใช้แบบจำลองฟิสิกส์เชิงซ้อน เหมาะสมกับพื้นที่ความสูงระดับ “หลังคาโลก” อย่างเมืองซีหนิง ทีมได้ปรับแต่งให้เหมาะกับโครงสร้างคลัสเตอร์ที่ประกอบขึ้นเอง เพื่อให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
3) AlphaFold3: โปรแกรมจำลองโครงสร้างโปรตีนด้วย Machine Learning สมัยใหม่ โดยใช้สถาปัตยกรรม Transformer และ Diffusion ทีมได้ปรับแต่งระบบให้สามารถรันบน CPU แทน GPU เพื่อประหยัดต้นทุน โดยยังคงความแม่นยำของผลลัพธ์ไว้ได้
4) Geant4: เฟรมเวิร์กโอเพ่นซอร์สจาก CERN สำหรับการจำลองการเคลื่อนที่ของอนุภาคด้วย Monte Carlo ทีมได้ปรับปรุงระบบให้รองรับการประมวลผลแบบขนานทั้ง MPI และ Multithreading พร้อมทั้งเพิ่ม Visualization เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ผล
5) RNA m5C: เครื่องมือวิเคราะห์การดัดแปลงทางเคมีของ RNA ประเภท 5-methylcytosine (m5C) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการควบคุมการแปลรหัสพันธุกรรม ทีมได้ปรับปรุง pipeline ให้รองรับข้อมูลขนาดใหญ่และประมวลผลได้อย่างรวดเร็วบน HPC
6) DeepSeek: โมเดลภาษาขนาดใหญ่จากประเทศจีน โดยเราได้ปรับปรุงตัวโมเดลให้ใช้งาน CPU เพื่อลดต้นทุนในการคำนวณ รวมถึงการออกแบบและพัฒนาระบบให้บริการ (Serving System) เพื่อรองรับปริมาณการประมวลผลที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
3. การนำเสนอและแข่งขันเชิงเทคนิค
ทีมสามารถถ่ายทอดแนวคิด วิธีการ และผลลัพธ์อย่างมืออาชีพ โดยมีการสื่อสารข้อมูลเชิงลึกด้านเทคนิคได้อย่างโดดเด่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการคว้ารางวัล
ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงศักยภาพของนิสิตไทยในการแข่งขันระดับโลกด้านเทคโนโลยีการประมวลผลสมรรถนะสูง (High Performance Computing) และสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการเรียนการสอนในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

